| เช็คสถานะสินค้า | รถเข็น(0)
| สมัครสมาชิกผู้ซื้อ
| แจ้งปัญหาการใช้งาน
เข้าสู่ระบบ



  • เปิดร้าน 24 ส.ค. 2555
  • ปรับปรุง 3 ก.ย. 2562
  • ผู้ชมทั้งหมด 2,676,712
  • สินค้าทั้งหมด 727




ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี

ผู้เขียน: ขวัญนภัส  สรโชติ
หน่วยงาน: ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้ออมและของเสียอันตราย
สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
วันที่: 20 ก.ย. 2555

            การจัดการสารเคมีที่ดี (sound management of chemicals) ควรจะต้องประกอบด้วยระบบที่สามารถระบุความเป็นอันตรายของสารเคมีและสื่อสาร ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีในลักษณะต่างๆ ได้ ดังนั้นการสื่อสารข้อมูลสารเคมีจึง เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การจัดการสารเคมีได้อย่าง มีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นคือ ถ้าผู้เกี่ยวข้องรับรู้และเข้าใจถึงธรรมชาติหรือลักษณะความเป็นอันตรายและ ข้อควรปฏิบัติที่เหมาะสมเมื่อต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีแล้ว ก็จะทำให้เกิดความระมัดระวัง และป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดขึ้นต่อทั้งตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมได้ เหมือนสุภาษิตที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” นั่นเอง

            เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลสารเคมี คือ ฉลาก (label) และ เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet, SDS) โดยข้อมูลบนฉลาก จะแสดงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงอันตราย ข้อความเตือน และข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยต่างๆ ส่วน SDS เป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลสารเคมีที่ละเอียดขึ้นกว่าบน ฉลาก โดยจะมีข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะความเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม วิธีใช้ วิธีเก็บรักษา ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่ง การกำจัดและการจัดการอื่นๆ เช่น การปฐมพยาบาล ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือหกรั่วไหล เป็นต้น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถจัดการกับสารเคมีนั้นได้อย่างถูกต้องและ ปลอดภัย

            แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันของการสื่อสารข้อมูลสารเคมี คือ เกณฑ์ การจำแนกความเป็นอันตราย (classification) สัญลักษณ์ (pictogram) และข้อมูลที่ต้องแสดงบนฉลาก รวมถึงรูปแบบของ SDS ในแต่ละประเทศ (หรือแม้แต่ในประเทศเดียวกัน) มีความหลากหลายที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดความสับสนในการสื่อสารขึ้น เช่น สารเคมีตัวเดียวกันในประเทศหนึ่งระบุว่าเป็นอันตราย มีสัญลักษณ์และข้อความเตือนแบบหนึ่ง ในขณะที่อีกประเทศหนึ่งอาจระบุว่าไม่เป็นอันตรายหรือเป็นอันตรายน้อยกว่า และมีสัญลักษณ์หรือข้อความเตือนอีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากมีเกณฑ์การจำแนกและการกำหนดรูปแบบในการสื่อสารที่แตกต่าง กัน จากความแตกต่างเหล่านี้เอง ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะเกิดการจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพราะเริ่มต้นก็มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเสียแล้ว และถ้าพูดถึงในเชิญธุรกิจการค้าเคมีระหว่างประเทศแล้ว การจำแนกความเป็นอันตราย ติดฉลากบนบรรจุภัณฑ์ และจัดเตรียม SDS ให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศถือเป็นต้นทุนและความยุ่งยากอย่างหนึ่ง ทีเดียว

            รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างความหลากหลายของสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายในแต่ละภูมิภาค เช่น

 

ที่ มา : ดัดแปลงจากงานนำเสนอของ Andrew Fasey, INTRODUCTION TO CLP: CLASSIFICATION, LABELLING AND PACKAGING REGULATION, Lancaster University, October 2009.

รูปที่ 1 แสดงความหลากหลายของสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายในแต่ละภูมิภาค

            จากปัญหาดังกล่าวนี้จึงเป็นที่มาของการเกิด “ระบบ GHS” (The Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals)  หรือ ระบบการจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ผ่านทาง ฉลาก และเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) โดยใช้เกณฑ์เดียวกันในการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย หลักการและองค์ประกอบของระบบ GHS แสดงในรูปที่ 2

 

รูปที่ 2 แสดงหลักการและองค์ประกอบของระบบ GHS

จุดมุ่งหมายของ GHS

            1. ยกระดับการป้องอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยจัดให้มีระบบที่เข้าใจง่ายในการสื่อสารข้อมูลและอันตรายของสารเคมี

            2. มีแนวทางให้กับประเทศที่ยังไม่มีระบบการจำแนกประเภทและติดฉลากสารเคมี

            3. ลดความซ้ำซ้อนของการทดสอบและการประเมินสารเคมี

            4. อำนวยความสะดวกในด้านการค้าระหว่างประเทศ สำหรับสาเคมีที่ได้ประเมินและจำแนกแล้วตามหลักเกณฑ์พื้นฐานระหว่างประเทศ

ประวัติศาสตร์ของ GHS


            ในปี ค.ศ. 1956 องค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่เอกสารข้อแนะนำสำหรับการขนส่งสินค้าอันตราย (UN Recommendations on the Transport of Dangerous Goods, UNRTDG) เพื่อให้ประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าอันตรายใช้เป็น มาตรฐานเบื้องต้นในการออกกฎระเบียบข้อกำหนด สำหรับการขนส่งสินค้าอันตราย ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดของเกณฑ์การจำแนกประเภทความเป็นอันตรายและการแสดงสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ที่ ใช้ระหว่างการขนส่ง  ทั้งนี้สารเคมี/เคมีภัณฑ์บางตัวก็ถึงเป็นสินค้าอันตรายด้วยจึงเข้าข่ายที่ ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เช่นกัน และเนื่องจากเอกสารจัดทำเป็นปกสีส้มจึงเป็นที่รู้จักกันในนาม “Orange Book” และ นี่คือที่มาของระบบ UN Class ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจนับว่าเป็นการเริ่มต้นของระบบ GHS สำหรับสารเคมีในด้านการขนส่งก็ว่าได้ ระบบ UN Class ประกอบด้วยสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายดังรูปที่ 3 และประเภทความเป็นอันตรายหลักๆ  9 ประเภท ดังนี้

            ประเภทที่ 1 สารระเบิดได้ (Explosives)

            ประเภทที่ 2 แก๊ส (Gases)

            ประเภทที่ 3 ของเหลวไวไฟ (Flammable Liquids)

            ประเภทที่ 4 ของแข็งไวไฟ (Flammable Solids) สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง (Substances Liable to Spontaneous Combustion) และสารที่สัมผัสกับน้ำแล้วทำให้เกิดก๊าซไวไฟ (Substances which in Contact with Water Emit Flammable Gases)

            ประเภทที่ 5 สารออกซิไดส์ (Oxidizing Substances) และสารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์ (Organic Peroxides)

            ประเภทที่ 6 สารพิษ (Toxic Substances) และสารติดเชื้อ (Infectious Substances)

            ประเภทที่ 7 วัสดุกัมมันตรังสี (Radioactive Materials)

            ประเภทที่ 8 สารกัดกร่อน (Corrosive Substances)

            ประเภทที่ 9 วัสดุอันตรายเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Dangerous Substances and Articles)

รูปที่ 3 สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายตามระบบ UN Class (UNRTDG)

            แต่อย่างไรก็ดี ระบบ UN Class จะคำนึงอันตรายที่เกิดจากสมบัติทางกายภาพและความเป็นพิษเฉียบพลันเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวและอันตรายต่อสิ่ง แวดล้อมอย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ก็คงเนื่องมาจากวัตถุประสงค์ในการใช้งาน คือ เพื่อการขนส่ง ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ดูแล้วอันตรายที่อาจเกิดได้ในระหว่างการขนส่งมักจะเกี่ยว ข้องกับอันตรายทางกายภาพและความเป็นพิษแบบเฉียบพลันเป็นส่วนใหญ่

            ต่อมาในปี ค.ศ. 1989-1990 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization, ILO) ได้พัฒนาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยในสถานที่ทำงานขึ้น และเป็นผู้ริเริ่มเสนอให้มีระบการจำแนกและแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่ เป็นระบบเดียวกันทั่วโลกขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาระบบการจำแนกประเภทสารเคมีและการติดฉลากที่ส่วนใหญ่มี อยู่และใช้ในระบบเดียวกันในสากล ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานหรือองค์การระหว่างประเทศ จะไม่ครอบคลุมการจำแนกประเภทและติดฉลากสารเคมีในทุกมุมมองของความเป็น อันตรายที่อาจเกิดได้จากสารเคมี และจัดทำสำหรับบางกลุ่มการใช้งานของสารเคมีเท่านั้น เช่น ด้านการขนส่งสินค้าและสารเคมีอันตรายมี UNRTDG หรือ Orange book ด้านสารกำจัดศูตรพืช มี WHO Recommended Classification of Pesticides by Hazard and Guidelines to Classification และ FAO (Food and Agriculture Organization) Guidelines on Pesticide Registration และ  Guidelines on Good Labelling Practice for Pesticides เป็นต้น

            ดังนั้นในปี ค.ศ. 1992 การประชุมสหประชาชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development : UNCED) หรือ “Earth Summit” ณ เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล จึงมีมติให้การพัฒนาระบบการจำแนกประเภทและติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (GHS) เป็นการดำเนินงานส่วนหนึ่งแผนปฏิบัติการที่ 21 บทที่ 19 (Chapter 19, Agenda 21) ของโปรแกรมการจัดการสารเคมีเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมี Interorganization Programme for the Sound Management of Chemicals (IOMC) เป็นผู้ประสานงานรับผิดชอบ

 

Chapter 19, Agenda 21

Programme B: Harmonization of classification and labelling of chemicals

“A globally-harmonised hazard classification and compatible labelling system, including material safety data sheets and easily understandable symbols, should be available, if feasible, by the year 2000.

           จากนั้นในปี ค.ศ. 1995 ภายใต้การดูแลของ IOMC จึงได้มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นศูนย์ประสานงานทางวิชาการ (technical focal point) เพื่อพัฒนาระบบ GHS ขึ้น 3 ส่วนตามประสบการณ์และความถนัดที่มีมาแต่เดิม ดังนี้

  • UN Committee of Experts on Transport of Dangerous Good (UNCETDG) และ ILO รับผิดชอบด้านเกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายทางกายภาพและความเป็นพิษเฉียบ พลัน
  • Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) รับผิดชอบด้านเกณฑ์การจำแนกความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
  • ILO รับผิดชอบด้านระบบการสื่อสารข้อมูล (Hazard Communication)

            ทั้ง นี้ในการพัฒนาระบบ GHS ได้ใช้พื้นฐานจากระบบการจำแนกประเภทและติดฉลากที่ใช้อยู่ในประเทศต่างๆ ซึ่งคาดว่าเป็นระบบหลักๆ ที่ใช้กันอยู่มากที่สุด 4 ระบบ ดังนี้

  • United Nations Recommendations on the Transport of Dangerous Goods
  • European Union (EU) Directives on Substances and Preparations
  • Canadian Requirements for Workplace, Consumers and Pesticides
  • US Requirements for Workplace, Consumers and Pesticides

            ต่อมาเมื่อเดือนกันยายนปี ค.ศ. 2002 ในการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development, WSSD) ณ กรุงโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟาริกาใต้ นานาชาติได้มีข้อตกลงร่วมกัน ให้ทุกประเทศนำระบบ GHS ไปปฏิบัติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ และกำหนดเป้าหมายให้มีการปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบทั่วโลกภายในปีค.ศ. 2008

            จนกระทั่งในที่สุด ระบบ GHS ก็จัดทำแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2002 ได้รับอนุมัติให้ประกาศใช้และเผยแพร่ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2003 ต่อมามีการปรับปรุงแก้ไข (revise) ทุกๆ 2 ปี ซึ่งการปรับปรุงครั้งล่าสุดคือ เมื่อปี ค.ศ. 2011 เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 และเนื่องจากหน้าปกของเอกสาร GHS เป็นสีม่วงจึงนิยมเรียกกันว่า “Purple Book”

ขอบเขตของระบบ GHS

            ครอบคลุมสารเคมีและผลิตภัณฑ์เคมีทุกชนิดตลอดทั้งวงจรชีวิตของสารเคมี (chemical product lifecycle) ยกเว้น ยา วัตถุเจือปนอาหาร (food additive) เครื่องสำอาง และสารเคมีตกค้างในอาหาร ณ จุดบริโภค (at point of consumption)

องค์ประกอบของระบบ GHS

            1. การจำแนกประเภทความเป็นอันตราย : ระบบ GHS แบ่งประเภทความเป็นอันตรายเป็น 3 ด้าน ดังนี้

            2. สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย : ระบบ GHS ประกอบด้วยสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย 9 รูป (pictograms) ดังแสดงในรูปที่ 4

รูปที่ 4 รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายในระบบ GHS

เครื่องมือการสื่อสารข้อมูลในระบบ GHS

            1. การติดฉลาก : ระบบ GHS กำหนดให้ฉลากที่ติดบนภาชนะบรรจุสารเคมี/เคมีภัณฑ์ ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ดังนี้

  • ชื่อผลิตภัณฑ์ (หรือชื่อการค้า)
  • ชื่อผู้ผลิต
  • ชื่อสารเคมี / สารเคมีอันตรายที่เป็นส่วนประกอบในเคมีภัณฑ์
  • รูปสัญลักษณ์ (pictogram)
  • คำสัญญาณ (signal word) ประกอบด้วย 2 คำ คือ “อันตราย” (Danger) และ “ระวัง” (Warning)
  • ข้อความแสดง ความเป็นอันตราย (Hazard statement) คือข้อความระบุลักษณะความเป็นอันตรายของสารเคมี เช่น อาจเกิดไฟไหม้เมื่อได้รับความร้อน อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือหอบหืดหรือหายใจลำบากเมื่อหายใจเข้าไป เป็นต้น
  • ข้อควรปฏิบัติ เพื่อป้องกันอันตราย เก็บรักษา กำจัดกาก และจัดการเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน (Precautionary statement) เช่น ใช้ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก เก็บให้ห่างจากเด็ก ห้ามนำภาชนะกลับมาใช้อีก หากถูกผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด เป็นต้น

            ตัวอย่างฉลากสารเคมีแสดงในรูปที่ 5

รูปที่ 5 ตัวอย่างข้อมูลบนฉลากของสารเคมี

            2. เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS) ระบบ GHS กำหนดให้ SDS ประกอบด้วย 16 หัวข้อเรียงลำดับ ดังนี้

  • ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี และบริษัทผู้ผลิตและหรือจำหน่าย (Identification)
  • ข้อมูลความเป็นอันตราย (Hazards identification)
  • ส่วนประกอบและข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (Composition/Information on ingredients)
  • มาตรการปฐมพยาบาล (First aid measures)
  • มาตรการผจญเพลิง (Fire fighting measures)
  • มาตรการจัดการเมื่อมีการหกรั่วไหล (Accidental release measures)
  • การใช้และการจัดเก็บ (Handling and storage)
  • การควบคุมการได้รับสัมผัสและการป้องกันส่วนบุคคล (Exposure controls/Personal protection)
  • คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี (Physical and chemical properties)
  • ความเสถียรและการเกิดปฏิกิริยา (Stability and reactivity)
  • ข้อมูลด้านพิษวิทยา (Toxicological information)
  • ข้อมูลด้านระบบนิเวศ (Ecological information)
  • ข้อพิจารณาในการกำจัด (Disposal considerations)
  • ข้อมูลสำหรับการขนส่ง (Transport information)
  • ข้อมูลเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ (Regulatory information)
  • ข้อมูลอื่น ๆ (Other information)

ประโยชน์ของ GHS

            1. คนงาน ผู้ใช้สารเคมี และผู้บริโภค

  • ส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้สารเคมีผ่านการสื่อสารความเป็นอันตรายที่เป็นรูปแบบเดียวกันและเข้าใจง่าย
  • ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงอันตรายของสารเคมี และใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย

            2. ภาคธุรกิจ

  • ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและการขนส่งสารเคมี และสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนงานผู้ใช้สารเคมี
  • เพิ่ม ประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎระเบียบในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีเนื่องจากทุกภาคส่วน ใช้ระบบเดียวกัน
  • ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวเนื่องจากการลดลงของอุบัติเหตุและการรักษาพยาบาลที่เกิดจากสารเคมี
  • ส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสถานประกอบการและผลิตภัณฑ์
  • อำนวยความสะดวกด้านการค้าสารเคมีระหว่างประเทศ ลดความซ้าซ้อนในการจัดทำฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัย

            3. ภาครัฐ

  • ลดอุบัติเหตุจากสารเคมีและภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดจากสารเคมี
  • ส่งเสริมการปกป้องสุขภาพคนงานและผู้บริโภคจากอันตรายของสารเคมี
  • ลดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกในการประสานความร่วมมือในด้านกฎระเบียบ การบังคับใช้ และการเฝ้าระวัง
  • ส่งเสริมการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

GHS กับการเตรียมพร้อมของประเทศไทย

            ประเทศไทยค่อนข้างให้ความสนใจกับระบบ GHS มาโดยตลอด หากจะนับอย่างเป็นทางการว่าเริ่มเมื่อไหร่ น่าจะนับได้จากการประชุม Intergovernmental Forum on Chemical Safety (IFCS) ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตจำนงร่วมกันนานาประเทศในการนำระบบ GHS มาใช้ในประเทศ เนื่องจากเห็นว่าระบบ GHS  จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการจัดการสารเคมี เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดข้อกีดกันทางการค้าผลิตภัณฑ์เคมีระหว่างประเทศด้วย ซึ่งในที่ประชุมได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้มีผลปฏิบัติได้ภายในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีนโยบายในการนำระบบ GHS มาใช้ปฏิบัติกับสารเคมี/เคมีภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) คณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงมีมติแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการดำเนินการในการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุ อันตราย” (คณะอนุกรรมการ GHS) โดยมีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน เช่น

  • หน่วยงานควบคุมตาม พรบ.วัตถุอันตราย เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร ฯลฯ
  • หน่วยงานภาค เอกชน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจเคมี สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมคนไทยประกอบธุรกิจการเกษตร ฯลฯ
  • หน่วยงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ
  • หน่วยงานวิจัย เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฯลฯ

            หลังจากนั้นประเทศไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้ทำการศึกษาและเตรียมความพร้อมเพื่อนำระบบ GHS มาปรับใช้ในประเทศ (ดังตารางที่ 1) สำหรับโครงการเด่นๆ น่าจะเป็นโครงการ Thailand GHS Capacity Building (พ.ศ. 2548-2550, 2553-2555) ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่าง 4 หน่วยงานหลัก คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร สำนักปลัดกระทรวงคมนาคม และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมในการนำระบบ GHS มาใช้ในประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเพื่อการฝึกอบรมและวิจัยแห่งสหประชาชาติ (UNITAR) และ ILO ในการดำเนิน มีตัวอย่างกิจกรรม ดังนี้

  • การวิเคราะห์สถานการณ์และช่องว่างของแต่ละภาคส่วน (Situation and Gap Analysis)
  • การสำรวจทัศนคติและความเข้าใจของประชากรไทยในการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีตามระบบ GHS (Comprehensibility Testing)
  • พัฒนาแผนยุทธศาสตรการเตรียมความพร้อมการนำ GHS ไปปฏิบัติ
  • การสร้างความตระหนักในเรื่อง GHS ให้แก่หน่วยงานภาคธุรกิจและประชาชน
  • การจัดอบรม พัฒนาชุดการฝึกอบรม และ สื่อการเรียนรู้

            ตารางที่ 1 ตัวอย่างกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำระบบ GHS มาใช้ในประเทศไทย

GHS กับการบังคับใช้ในประเทศไทย

            จากนโยบายที่จะนำระบบ GHS มาใช้กับ สารเคมี/เคมีภัณฑ์ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพรบ. วัตถุอันตรายนั้น ขณะนี้ถือได้ว่าประเทศไทยได้นำระบบ GHS มาใช้แล้วอย่างเป็นทางการกับวัตถุอันตรายที่อยู่ในการควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จาก “ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555 ” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์  2555 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาราชกิจจานุเบกษา วันที่ 12 มีนาคม 2555) โดยตามประกาศฯ มีข้อกำหนดหลัก ดังนี้

  • ผู้ผลิต และนำเข้าวัตถุอันตราย มีหน้าที่จำแนกประเภทความเป็นอันตราย จัดทำฉลาก และ SDS วัตถุอันตรายประเภทสารเดี่ยว (substance)1 และสารผสม (mixture)2 ตามระบบ GHS โดยสารเดี่ยวต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และสารผสมภายใน 5 ปี
  • ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย มีหน้าที่ต้องสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายในรูปแบบของฉลาก และ SDS ที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจัดทำ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายนั้นๆ ได้อย่างปลอดภัย

 

            สิ่งที่ควรต้องเกิดขึ้นในอนาคตของภาคอุตสาหกรรมหลังจากมีการประกาศใช้ระบบ GHS คือ การมีข้อมูลความปลอดภัย หรือ SDS ของสารเคมี/เคมีภัณฑ์อันตรายที่ผลิต นำเข้า หรือใช้ทุกตัว เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับการจัดการด้านความปลอดภัยในองค์กร ซึ่งก่อนหน้านี้มักมีปัญหาการไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เคมีที่ซื้อ มาใช้ ถึงขั้นว่าไม่ทราบว่าตนเองใช้สารอะไร ผู้ขายไม่ให้ข้อมูลใดๆ เนื่องจากเป็นความลับทางการค้า ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากยังไม่มีกฎหมายบังคับ ถึงแม้กฎหมายจะกำหนดให้ SDS เป็นเอกสารหนึ่งประกอบการขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาตต่างๆ แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้ใช้ในการสื่อสารข้อมูลด้วย ดังนั้นเมื่อมีการใช้ระบบ GHS แล้ว ปัญหานี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก



ดู 5291 | เริ่ม 13 ต.ค. 2555 21:09:21 | IP 171.4.178.xx